รองนายก อบจ.สงขลา ประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการให้บริการรถนั่งคนพิการ ระดับพื้นฐาน

    2019-02-28 10:23:03
    กองส่งเสริมคุณภาพชีวิต องค์การบริหารจังหวัดสงขลา ในนามกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ โดยการจัดฝึกอบรมการซ่อม และการผลิตอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ เพื่อให้ผู้พิการสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ลดภาระต่อครอบครัวและสังคม วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 62 นายสมหมาย ขวัญทองยิ้ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการให้บริการรถนั่งคนพิการ ระดับพื้นฐาน กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสงขลา ปี 2562 รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2562 ณ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปัจจุบันคนพิการในจังหวัดสงขลามีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ซึ่งประสบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนรถนั่งคนพิการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อใช้งานไประยะหนึ่งย่อมชำรุดเสียหาย หรือเสื่อมสภาพไปตามระยะเวลาการใช้งาน จำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุงให้สามารถใช้งานได้ปกติ อีกปัญหาหนึ่งที่ได้รับการเหลียวแลน้อยมากนั้นก็คือสถานที่ซ่อมแซมรับเปลี่ยนอะไหล่เมื่อรถเข็นนั่งคนพิการเกิดชำรุด นับเป็นความเดือดร้อนของคนพิการด้านกายอุปกรณ์ในทุกพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการสูญเสียงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ใหม่โดยไม่จำเป็น ในปีงบประมาณ 2561 กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสงขลา ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ซ่อมและผลิตกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ (นำร่อง) ให้แก่สมาคมคนพิการจังหวัดสงขลา โดยบูรณาการความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ และวิทยาลัยการอาชีพนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการด้านกายอุปกรณ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงด้านอาคารสถานที่ สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการให้บริการรถนั่งคนพิการระดับพื้นฐาน กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดสงขลา ประจำปี 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ของผู้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมเกี่ยวกับรถนั่งคนพิการแบบขับเคลื่อนด้วยแรงคน (Manual Wheelchair) และเบาะรองนั่งที่เหมาะสมกับบุคคลทุกเพศทุกวัยที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวที่สามารถนั่งตรงได้โดยไม่ต้องมีการรองรับท่าทางเพิ่มเติม แก้ไขปัญหาอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่ชำรุดให้สามารถใช้งานได้ใหม่ ลดต้นทุนการจัดหาอุปกรณ์ใหม่ นับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการด้านกายอุปกรณ์ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ซ่อมและผลิตกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุติดเตียง เพื่อรองรับการเป็นศูนย์รวมในการแก้ไขปัญหากายอุปกรณ์ระดับจังหวัด และเป็นการสร้างอาชีพ ทำให้คนพิการมีรายได้ มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีคุณค่า ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคมอีกต่อไป ภาพ : อรอนงค์ รอดแก้ว ข่าว : วีระศักดิ์ เลิศศักดิ์พณิชย์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา