ปลัด อบจ. ปฏิบัติหน้าที่ นายก อบจ.สงขลา ได้มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักปลัดฯ นำคณะข้าราชการ หัวหน้าส่วน และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ร่วมในพิธีถวายราชสักการะ วางพานพุ่มดอกไม้สด เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์
2019-11-15 08:51:56
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยนายประพันธ์ ศรีสุวรรณ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ปฏิบัติหน้าที่แทนนายก อบจ.สงขลา ได้มอบหมายให้นางสุนิน จันทรา หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักปลัดฯ นำคณะข้าราชการ หัวหน้าส่วน และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ร่วมในพิธีถวายราชสักการะ วางพานพุ่มดอกไม้สด เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาส"วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" ประจำปี 2562 โดยมีนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน สมาคม องค์กร หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมพิธีถวายราชสักการะวางพานพุ่มดอกไม้สด ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มทร.ศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทั้งนี้เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเนื่องใน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ซึ่งวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ วันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งฝนหลวง" พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกๆปี เป็นวัน"พระบิดาแห่งฝนหลวง"
สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ในพ.ศ. 2499 จึงได้พระราชทาน โครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง” ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ การรับสนองพระราชดำริได้ร่วมมือกันระหว่าง ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้น รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว ในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้ พระองค์ทรงเชื่อมั่นว่าวิธีการดังกล่าวนี้ จะทำให้การพัฒนาระบบการจัดทรัพยากรน้ำของชาติเกิดความพร้อม และครบบริบูรณ์ตามวัฏจักรของน้ำ คือ การพัฒนาระบบ การจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำใต้ดิน , การพัฒนาระบบ การจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำผิวดิน , การพัฒนาระบบ การจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 นับเป็นประวัติศาสตร์แห่งการทำฝนหลวงของประเทศไทย เพราะเป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry-Ice) โรยที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่นๆ เช่น ที่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ด้วยความสำเร็จของโครงการฝนหลวง จึงได้ตรา พระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นใน พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี จึงกำหนดให้เป็นวัน "พระบิดาแห่งฝนหลวง" เพื่อให้ประชาชนทั้งในปัจจุบัน และอนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี ชื่นชมในพระบารมี และร่วมกันถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรสืบไป
-
-
-
-
-
-
-
-