อบจ.สงขลา ร่วมต้อนรับ จุรินทร์ - นิพนธ์ เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดสงขลา

    2021-10-18 21:46:19
    16 ตุลาคม 2564 นายนิพัฒน์ อุดมอักษร เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. ในโอกาสเดินทางมาปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตแปรรูปทุเรียน และผลไม้แช่แข็ง จากบริษัท ม่านกู่หวาง ฟู้ด จำกัดโดยมี พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.พรรค ปชป เขต 8 สงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหาร บริษัท ม่านกู่หวาง ฟู้ด จำกัด ให้การต้อนรับ ณ บริษัท ม่านกู่หวาง ฟู้ด จำกัด ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลไม้ไทยยังมีอนาคตมากทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ตัวเลขการส่งออกผลไม้ดีขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะทุเรียนช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ม.ค.-ส.ค.ปีนี้ ส่งออกไปแล้ว 89,000 ล้านบาท เป็นบวกถึง 76% ที่นี่เป็นตัวอย่างของโรงงานแปรรูปทุเรียนทำทุเรียนแช่แข็ง เพื่อส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน รวมทั้งทุเรียนแปรรูปแบบฟรีซดราย เราอยากเห็นโรงงานแบบนี้เกิดขึ้นมากๆ เพราะจะมีส่วนช่วยในการรับซื้อทุเรียนของเกษตรกรได้มากขึ้นราคารับซื้อในช่วงเวลานี้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก กิโลกรัมละ 80-185 (บาท ใกล้เคียงกับทุเรียนภาคตะวันออกในช่วงที่ผ่านมาเพราะเฉลี่ยทุเรียนเกรดส่งออกกิโลกรัมละประมาณ 200 บาท เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนมีอนาคตเพียง แต่หัวใจสำคัญขอให้รักษาคุณภาพเพราะจะเป็นตัวช่วยนำไปสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคตทั้งการผลิตและการตลาด หากปลอดจากโควิดแล้วทุกอย่างจะไปได้ดีขึ้น เพราะจะช่วยให้สามารถรับซื้อทุเรียนได้มากขึ้น ส่งออกได้มากขึ้น จะเกิดการจ้างงานมากขึ้น ที่นี่ในช่วงปัจจุบันสามารถจ้างงานได้เกือบ 1,000 คน หากมีโรงงานแบบนี้เกิดขึ้นหลายโรงจะช่วยเรื่องการว่างงาน เท่ากับในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยแก้ปัญหาทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงในเวลาเดียวกันได้ด้วย สำหรับมาตรการส่งเสริมผลไม้เชิงรุก 17+1 ของกระทรวงพาณิชย์ที่เราเตรียมไว้สำหรับฤดูผลผลิตผลไม้ปีหน้า ซึ่งเริ่มต้นปี 65 แต่เราเดินหน้ามาตรการเบื้องต้นไม่รอปัญหาเกิด เรากำหนดไว้ 17 + 1 มาตรการ โดย 17 มาตรการแรกใช้เช่นเดียวกับภาคตะวันออก เช่น สนับสนุนเงินให้กับผู้รวบรวมผลไม้และจำหน่ายนอกพื้นที่กิโลกรัมละ 3 บาท หรือช่วยผู้ส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท รวมทั้งมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องรวม 17 มาตรการ แต่สำหรับภาคใต้จะเพิ่มมาตรการที่ 18 คือ การเร่งรัดการเปิดด่านชายแดน จาก 9 ด่านที่เปิดไปแล้วเ 7 ด่าน คือ ด่านตากใบและด่านบูเก๊ะตา หากเปิดได้ในเดือนพฤศจิกายนการส่งออกผลไม้จะไปได้ดี คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมถึงน้ำยางด้วยจะมีผลดีในการระบายผลไม้ไปยังมาเลเซียสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ โดยกระทรวงพาณิชย์ทำงานกับเอกชนใกล้ชิด ทั้งภาคการผลิต การแปรรูป อุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงการตลาดทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก และทำงานเชิงรุกทุกฝ่ายมั่นใจ เพราะสิ่งที่เราทำมา 2 ปี ให้เห็นว่านโยบายหลายอย่างของกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าจริงอย่างเป็นรูปธรรม และเรามีนโยบายทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรเป็นหัวใจสำคัญที่ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ เพราะเป็นประเทศอุตสาหกรรมและเอาหน่วยงานการผลิต ด้านอุตสาหกรรม มาบวกกับการตลาดตั้งเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม(METI) ส่วนเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เอากระทรวงผลิตด้านเกษตร คือ กระทรวงเกษตรฯ และการตลาด คือ กระทรวงพาณิชย์เป็นวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”เป็นสิ่งที่เราเดินหน้าเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ตนมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย