สืบโยด สาวย่าน ตำนาน พร้าวดีสงขลา ตำนาน พร้าวเบาทุ่งหวังสงขลา
2024-02-13 09:41:26
7 ก.พ. 67 ที่ อบต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา มีกิจกรรม "สืบโยด สาวย่าน ตำนาน พร้าวดีสงขลา" มีเรื่องที่น่าติดตามที่ผมจะเล่าให้ฟัง ดังนี้ครับ
เกริ่นนำที่มา งานนี้เกิดมาจากทีมงานมะพร้าวน้ำหอมในโครงการส่งเสริมมะพร้าวน้ำหอม อบจ.สงขลา โดย นายกไพเจน มากสุวรรณ์ ได้อนุมัติงบประมาณให้ กองส่งเสริมการเกษตร อบจ.สงขลา ทำการส่งเสริม และภาคีเครือข่ายโครงการฯก็ได้มีการประชุมหารือกันและได้ตระหนักถึงประเด็นโอกาสและข้อห่วงใยเรื่องอนาคตมะพร้าวสงขลา ที่สรุปว่า
สงขลามีศักยภาพในการเป็นมหานครมะพร้าวน้ำหอมภาคใต้ ด้วยสงขลามีกำลังการผลิตมากที่สุดในภาคใต้ และมีประวัติเป็นแหล่งมะพร้าวยาวนานมาแล้ว
แต่ในการค้ามะพร้าวน้ำหอมนั่น ยังมีประเด็นของ "คุณภาพสินค้า" เป็นเงื่อนไขสำคัญ การจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยั่งยืนจึงต้องขับเคลื่อนความเป็น "เมืองมะพร้าวน้ำหอมคุณภาพที่ดีผู้บริโภคเชื่อถือในคุณภาพสินค้าและมีคุณค่าทางเรื่องราววิถีชีวิต ภูมิสังคม และ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ควบคู่กัน"
พอมาถึงจุด ที่ พบว่ามะพร้าว น้ำหอมทุ่งหวัง เป็นตำนานของมะพร้าวน้ำหอม สงขลา นั้น การสืบตำนาน ค้นหามะพร้าวดี แล้วสานต่อมาถึงยุคปัจจุบัน จะสามารถส่งต่อคุณค่าเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในการค้าขายทั้งภายในพื้นที่ ในจังหวัด ส่งออกไปภาคกลาง และต่างประเทศ พร้อมกับการเชื่อมสายใยชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นได้อีกด้วย คือทั้ง "สาวย่านและสาวญาติ"
เวทีในวันนี้ประกอบด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มีอายุ 70-80+ ปี 4 ท่าน ทำให้เวทีมีความอบอุ่นมาก มีคนรุ่น 50-70 มีผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต ปราชญ์ชุมชน เกษตรกรผู้นำจากสทิงพระ ผู้ประกอบการรับซื้อ ส่วนราชการจาก เกษตรจังหวัดสงขลา สวพ8 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด
สรุปเวที มะพร้าว น้ำหอม ทุ่งหวังว่า
คนทุ่งหวังเรียกมะพร้าวน้ำหอมว่า "มะพร้าวเบา" เกิดมาพอจำความได้ ก็เห็นมะพร้าวเบา ต้นสูงราวๆ 3-4 เมตร "เป็นมะพร้าว ลูกกลมๆ มีเนื้อสีขาวเทาๆไม่ได้สีขาวใสแบบปัจจุบัน มีรสชาติหอมหวาน" และมะพร้าวในรุ่นของคุณลุง ก็ยังมีต้นพันธุ์ ที่มีความหอมหวานอยู่ สืบทอดกันมา
การปลูกมะพร้าวเบา สมัยก่อน จะ "วางลูกพร้าวให้หัวท้าย หันไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้" ไม่ให้หันไปทางตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ชายทะเล เพราะจะทำให้ ลูกร่วงหล่น จากลมทะเลที่พัดแรง
การปลูกก็ไม่ต้องไปขุดหลุม แค่เอามะพร้าวไปวาง แล้วเอาเศษหญ้า สุมๆ ปิดเอาไว้ มันก็จะงอกขึ้นมา การดูแลก็ใส่ขี้วัว ไม่ต้องทำอะไรมาก
การค้าขาย ก็จะมีการบรรทุกเกวียนใช้วัวลากไปจากทุ่งหวังไปที่ "ตลาดสถานีรถไฟสงขลา" ต่อมาก็มีการใช้ "รถยนต์ที่ใช้ถ่าน"
มะพร้าว เป็นของที่ใช้ในพิธียกเสาเรือน ใช้ในพิธีแต่งงาน คู่กับหมากพลู และทุ่งหวังก็เป็นแหล่งปลูกพลูที่ใหญ่มาก ที่ไหนมีแปลงพลู ที่นั่นก็จะมีการปลูกมะพร้าวไว้ที่หัวแปลง ยุคต่อมา ก็มีการตั้งคำขวัญตำบลว่า พลูแต่งสาว มะพร้าวน้ำหอม ในพื้นที่สมัยก่อนมีการปลูกมะพร้าวเบากันมากโดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 2 มีการปลูกกันอย่างหนาแน่น
คำบอกเล่าที่สืบทอดมาจากคนรุ่น 80 ส่งต่อมาสู่คนรุ่นอายุ 50 ถึง 70 ปี ในชุมชนหลายคนเล่าว่า ก็ยังคง มีการขยายการปลูกมะพร้าว จากฟันธุ์ในพื้นที่ และช่วงหลังๆ ก็มีการนำมะพร้าวจากนอกพื้นที่มาปลูกบ้าง
ทางด้านผู้ประกอบการ ขายส่ง มะพร้าวน้ำหอมจากสงขลาไปภาคกลาง กล่าวว่า การค้าขาย ส่งไปต่างประเทศ ยืนอยู่ได้ ด้วยคุณภาพของสินค้า หากมีการปลอมปนสินค้าด้อยคุณภาพ เข้าไปก็จะทำให้เกิดความเสียหาย ต่อผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการส่งน้ำมะพร้าว หากมีน้ำมะพร้าว ไม่ดีผสมเข้าไป จะเกิดความเสียหาย ไม่น้อยกว่า 10 ล้าน ต่อแคปซูลบรรจุ ทางผู้ประกอบการ จึงเคร่งครัด เรื่องคุณภาพมาก และถ้าหาก เจอว่าเป็นมะพร้าว จากแหล่งใด ก็จะนำไปสู่ ปรับลดราคา หรืออาจจะถึงขั้นรุนแรง คือ การปฏิเสธการซื้อขายได้ ดังนั้นถึงแม้ว่า ความต้องการ มะพร้าวน้ำหอม ในอุตสาหกรรม ส่งออกยังมีมากก็ตาม แต่ถ้า การผลิตที่ไม่ได้คุณภาพเกิดขึ้น ก็จะส่งผลเสีย ทั้งระบบ โดยเฉพาะกับ เกษตรกร
เกษตรกร มะพร้าวแปลงใหญ่อำเภอสทิงพระ ก็ได้ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เรื่องแหล่งผลิต ที่มีคุณภาพ และสินค้า ที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง จึงจะต้อง ทำควบคู่กันไป ปัจจัยเรื่องพันธุ์ดี ก็มีผล ปัจจัยเรื่องการจัดการดูแลรักษาไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ยิ่งมีผลมาก
ที่ประชุม เห็นฟ้องต้องกันว่า สิ่งที่สำคัญ คืออยากเห็น องคาพยพ การบริหารจัดการ "สงขลามหานครมะพร้าวน้ำหอม" ที่มีระบบ การจัดการตั้งแต่ ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการดูแล
และปีนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างยิ่ง ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มาช่วยส่งเสริม โดยร่วมมือกับกลุ่ม เครือข่าย มะพร้าวน้ำหอมสงขลา ทั้งพื้นที่ คาบสมุทร และ พื้นที่อื่น ๆ ที่มีทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ อบต มี สวพ 8 เป็นหน่วยวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ช่วยทำเรื่องประวัติ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ช่วยส่งเสริมในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายสมนึก พรมเขียว ได้มีกำหนดการที่จะลงไปตรวจราชการพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ก็จะช่วย ทำให้เกิด ภาพความสำเร็จ ในการส่งเสริมมากยิ่งขึ้น
สำหรับมะพร้าวเบาทุ่งหวัง อบต. ทุ่งหวัง จะสานต่อ ในการที่จะ ค้นหาต้นพันธุ์ดี ที่จะนำไปสู่ การขยายผลรวมทั้งการที่จะส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูก ในตำบล และผนวก ตำนาน สู่การเรียนรู้ ของชุมชน ต่อไป
ธัชธาวินท์ สะรุโณ รายงาน
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-