นายก อบจ.สงขลา เปิดศูนย์สร้างสุขชุมชนเทพา เพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ เตรียมจัดตั้งศูนย์ฯให้ครอบคลุมทั้ง16 อำเภอ 49 รพ.สต.

    2024-02-20 09:55:27
    เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพในชุมชน "ศูนย์สร้างสุขชุมชนตำบลเทพา" โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา นายอำเภอเทพา สาธารณสุขอำเภอ พร้อมด้วย ผู้บริหารข้าราชการและเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ร่วมในพิธีเปิดโครงการ นายกไพเจน กล่าวว่า นวัตกรรม "ศูนย์สร้างสุขชุมชน" นับเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบบริการสาธารณะด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพและการยืม - คืนอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแบบบูรณาการในชุมชนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ห่างไกลที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพและกายอุปกรณ์ฯ ด้วยกลยุทธ์การจัดตั้งศูนย์บริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพและการยืม - คืนกายอุปกรณ์ฯ กระจายลงสู่พื้นที่นำร่อง สร้างรูปแบบการดำเนินงานและบริหารจัดการที่เป็นแบบฉบับของตัวเองผ่านกลไกความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยมีการประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกศูนย์ฯ ออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมตามสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่เพื่อเติมเต็มเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชนมีการนำระบบเทคโนโลยีมาหนุนเสริมในการจัดเก็บข้อมูลด้วยการพัฒนาและออกแบบระบบโปรแกรมประจำศูนย์สร้างสุขชุมชนเพิ่มความรวดเร็วในการจัดบริการและลดข้อจำกัดด้านสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์ฯ การสนับสนุนอุปกรณ์ฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือรายการที่รัฐบาลสนับสนุนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการการช่วยเหลือในพื้นที่ การปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานของรถพยาบาลฉุกเฉิน (1669) อบจ.สงขลา ที่ครบอายุการใช้งาน โดยโอนให้ อปท. นำไปใช้ในการให้บริการสาธารณะแก่ผู้รับบริการประจำศูนย์สร้างสุขชุมชนในแต่ละพื้นที่ ลดปัญหาในการเดินทางและการเงินของกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดให้มีการจ้างงาน 1 คนพิการ 1 ศูนย์สร้างสุขชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาหนุนเสริมในด้านการจ้างงานคนพิการและ การขนส่ง ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาระบบบริการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดศูนย์สร้างสุขชุมชนนำร่อง ในปี 2562 จำนวน 12 ศูนย์ และขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพและการยืม - คืน อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการได้เพิ่มขึ้นร้อยเปอร์เซ็นของการจัดบริการภาครัฐเดิม การเข้าถึงบริการมีความสะดวก รวดเร็ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิการรักษาและเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงเพศและวัยสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในจังหวัดสงขลา ให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตที่มีสุขอย่างยั่งยืน นายกไพเจน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์สร้างสุขชุมชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 24 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 16 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยได้มีการเปิดดำเนินการไปแล้วจำนวน 12 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการ 12 ศูนย์ และในปี 2567 จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์สร้างสุขชุมชน (ขยาย) จำนวน 5 ศูนย์ โดยมีเป้าหมายจะขยายให้ครอบคลุมทั้ง 49 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีการถ่ายโอนมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่จำเป็นและมีคุณภาพให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาต่อไป ณ ห้องประชุมคลีนิกหมอครอบครัว เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ขอขอบคุณภาพ/ข่าว : นางศราพันธ์ ฉั่วประเสริฐ