อบจ.สงขลา เดินหน้าขับเคลื่อนสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร ชูความโดดเด่นของการเป็นต้นธารแหล่งทรัพยากรอาหารทะเล และความหลากหลายของอาหารในพื้นที่ สู่การรับรู้ในระดับนานาชาติ และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
2024-05-02 15:51:58
วันนี้ (1 พ.ค. 67) ที่ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มอบหมายให้ นางสาวภพภร ทองคณารักษ์ ผู้อำนวยการกองผังเมือง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร พร้อมด้วย นางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา นางสาวสุธิดา พฤกษ์อุดม ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยมี นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน
สำหรับการประชุมดังกล่าว เพื่อติดตามการดำเนินงานในการขับเคลื่อนจังหวัดสงขลาสู่เป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร รวมทั้งแผนการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาวิเคราะห์หลักเกณฑ์ของยูเนสโกด้านอาหาร เพื่อประกอบการจัดทำโครงการ/กิจกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลักเกณฑ์ UNESCO ด้านอาหาร (Gastronomy) ตาม (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนจังหวัดสงขลาเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านอาหาร ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2569-2572) ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้จัดประชุมทบทวนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 คณะที่ปรึกษาโดยสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเกณฑ์การพิจารณาการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ประกอบด้วย ศาสตร์การทำอาหารได้รับการพัฒนาอย่างดีและแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะในพื้นที่เมืองและ/หรือภูมิภาค , ความมีชีวิตชีวาของชุมชนผ่านการประกอบอาหาร เต็มไปด้วยร้านอาหารและ/หรือผู้ปรุงอาหารแบบดั้งเดิม , ส่วนผสมที่ใช้ในการปรุงอาหารยังเป็นแบบดั้งเดิม , ความรู้ในท้องถิ่น กระบวนการทำอาหารแบบดั้งเดิม และวิธีการปรุงอาหาร รอดพ้น จากความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม/เทคโนโลยี , ยังคงมีตลาดอาหารแบบดั้งเดิมและอุตสาหกรรมอาหารแบบดั้งเดิม , การเป็นเจ้าภาพจัดงาน การให้รางวัล และการประกวดเทศกาลอาหารดั้งเดิม และกระบวนการสร้างการรับรู้อย่างมีเป้าหมายที่ตระหนักรู้ในวงกว้างอื่น ๆ , การเคารพต่อสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และการมีกระบวนการปลูกฝังความชื่นชม/ตระหนักถึงคุณค่าต่อสาธารณชน ส่งเสริมโภชนาการในสถาบันการศึกษา การรวบรวมและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในหลักสูตรของโรงเรียนสอนทำอาหาร
สำหรับจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากว่า 200 ปี มีสถาปัตยกรรม พหุวัฒนธรรม และอาหารที่อุดมสมบูรณ์ทั้งอาหารพื้นบ้านและอาหารพื้นเมือง ซึ่งคณะที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอแนวคิดเบื้องต้นที่จะช่วยผลักดันสงขลาสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ อันประกอบด้วย เสาที่ 1 แสดงออกถึงคุณค่าความหลากหลายผ่านนิเวศน์วิทยาที่มีความสอดคล้องกับลักษณะภูมิศาสตร์ เสาที่ 2 แสดงออกถึงความโดดเด่นผ่านวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม และเสาที่ 3 แสดงออกถึงคุณค่าที่ริเริ่มโดยชุมชนในพื้นที่
ดังนั้นการขับเคลื่อนสงขลาเมืองสร้างสรรค์ทางด้านอาหาร ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีของจังหวัดสงขลา ตลอดจนการต่อยอดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชน ภาครัฐภาคเอกชน พร้อมทั้งสถานที่ศึกษา อุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยในจังหวัดสงขลา เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและคณะที่ปรึกษาฯ มีแผนในการจัดประชุมเปิดตัวโครงการศึกษาขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามแนวทางการเป็นเมืองสร้างสรรค์จังหวัดสงขลา ณ Laguna Grand Hotel & Spa Songkhla ซึ่งจะได้ประกาศรายละเอียดต่อไป
ภาพ/ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ.สงขลา
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-