นายกไพเจน ร่วมกับกรมชลประทาน ติดตามการบริหารจัดการน้ำในคาบสมุทรสทิงพระ เร่งหาพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่ม รองรับปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรในคาบสมุทรสทิงพระอย่างยั่งยืน

    2024-05-03 11:02:24
    วันที่ 25 เมษายน 2567 นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในคาบสมุทรสทิงพระ พร้อมรับฟังรายงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงแผนจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567 โดยมีนายจงกรม สมพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรัษา ระโนด-กระแสสินธุ์ นายอำนาจ ปราชญ์ศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ และปรับปรุงระบบชลประทาน นายฤทธิชัย อนันทขาล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมเครื่องกล ส่วนเครื่องจักรกล ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายหัวหน้าฝ่ายช่างกล โครงการส่งน้ำและบำรุงนักษา ระโนด-กระแสสินธุ์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1-3 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมในการประชุม และรายงานในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในคาบสมุทรสทิงพระ ณ ห้องประชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ หมู่ 1 ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ยังได้ร่วมหารือในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในคาบสมุทรสทิงพระ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำแก้มลิงบริเวณริมทะเลสาบสงขลา โดยให้ทางกรมชลประทานนำไปศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณในการกักเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอในสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงได้ รวมถึงการหารือกับทางกรมชลประทานในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน และแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรในคาบสมุทรสทิงพระได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลากล่าวว่า วันนี้ลงพื้นที่สถานีสูบน้ำบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ จะเป็นสถานีสูบน้ำจากทะเล เข้าสู่ระบบชลประทานในพื้นที่ของอำเภอระโนดและกระแสสินธุ์ จำนวน200,000 กว่าไร่ โดยใช้เครื่องสูบน้ำทั้งหมด 10 เครื่อง อัตราสูบต่อเครื่องประมาณ 2.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้กำลังเดินเครื่องอยู่ 5 เครื่องปริมาณการสูบอยู่ที่ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทราบจากท่านผู้อำนวยการโครงการฯว่าขณะนี้เร่งสูบน้ำจากทะเลสาบ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในระบบของโครงการส่งน้ำระโนด-กระแสสินธุ์ สำหรับเกษตรกรไว้ใช้ในการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง โดยกำหนดสูบน้ำจากทะเลเข้าประมาณ 10 วัน จะได้น้ำเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอสำหรับเกษตรกรใชัปลูกพืชผักในช่วงฤดูแล้งได้ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวหากโครงการคลองอาทิตย์แล้วเสร็จสมบูรณ์ จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นมาเกือบ 10 ล้านลูกบาศก์ นอกจากนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อทำแก้มลิงอีก 3 แห่ง คือ ที่ชะแล้ ห้วยลาดและบ่อตรุ หากแล้วเสร็จจะมีพื้นที่แก้มลิงเพิ่มขึ้นประมาณ 200 ไร่ ความจุกักเก็บ ประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมกันนี้ได้เสนอให้กรมชลประทานพิจารณาศึกษาพื้นที่แก้มลิงบริเวณริมทะเลสาบสงขลา เป้าหมายประมาณ 500 ไร่ เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำเพิ่มประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอใช้ได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง ในส่วนของการใช้น้ำชลประทานในช่วงฤดูแล้งประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำ มีการตกลงในการบริหารจัดการใช้น้ำร่วมกันทั้งการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำและมีการจัดสรรน้ำใช้น้ำและจัดรอบเวรใช้น้ำตามความเหมาะสม ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้จัดเครื่องสูบน้ำสนับสนุนให้กับเกษตรกรตามการร้องขอ และร่วมกับกรมชลประทานจัดทำโครงการหาน้ำต้นทุนเพิ่มให้กับพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ คาดว่าจะศึกษาเสร็จประมาณปี 68-69 นี้