นายกไพเจน เปิดกิจกรรม "Healing (ฮีลลิ่ง) แคร์ใจ ป้องกันภัยสุขภาพจิต“ หวังกระตุ้นการรับรู้สู่การดูแลสุขภาพจิตของประชาชน

    2024-05-24 22:14:40
    ช่วงเย็นวันนี้ (24 พค. 67 ) ที่สวนสาธารณะเมืองสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ภายในงานเกษตรแฟร์ และ OTOP จังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน กิจกรรม "Healing (ฮีลลิ่ง) แคร์ใจ ป้องกันภัยสุขภาพจิต“ พร้อมด้วย นางพรเอื้อ เชื้อแหลม ที่ปรึกษา นายกอบจ. สงขลา เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพที่ 12 ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่บริษัทหาดทิพย์จำกัด สาขาหาดใหญ่ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมในพิธีเปิด จากการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ปี 2567 ของกรมสุขภาพจิต พบว่าประชาชน จำนวน 86,164 คน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตในระดับมาก-มากที่สุด ร้อยละ 66.29 ในประเด็นการรู้ช่องทางการเข้าถึงข้อมูล รู้วิธีช่วยเหลือ และรู้วิธีขอความช่วยเหลือ และพบว่ามี 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ คือ 1. การตีตราทางสังคมคิดว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นคนอ่อนแอ ใช้การฆ่าตัวตายเป็นทางออกของปัญหาหรือหนีปัญหา 2. ในกลุ่มประชาชนในภาวะวิกฤติ 1 ใน 2 คน ไม่รู้ว่าการดูข่าวฆ่าตัวตายบ่อยๆ อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และ 3. ประชาชน 1 ใน 5 คน ยังแชร์ ส่งต่อ และเผยแพร่ภาพความรุนแรง ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างกระแสความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองและตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและดูแลสุขภาพจิตตนเองได้ ตลอดจนลดการตีตราทางสังคม โดยกิจกรรมส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพจิต มี 5 ฐานกิจกรรม ประกอบด้วย ฐานกิจกรรม ที่ 1 วัดใจได้ทุกที่ เพื่อนดีดูแลใจ โดยการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อ ปัญหาจิตเวช ด้วยเว็บแอพพลิเคชั่น MENTAL HEALTH CHECK-IN ฐานกิจกรรมที่ 2 Better Mind Better Me โดยใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ ฐานกิจกรรมที่ 3 Time to love yourself และเซียมซีความสุข ด้วยการให้สำรวจความสุขของตนเองและบอกวิธีการดูแล สุขภาพใจของตัวเอง ฐานกิจกรรมที่ 4 Healing (ฮีลลิ่ง) ฮีลใจ โดยให้บริการตรวจสุขภาพหลอดเลือดและประเมินความเครียดด้วยเครื่อง Biofeedback และ ฐานกิจกรรมที่ 5 Positive thinking (คิดบวก) โดยการฝึกคิดบวกจากสถานการณ์จำลอง ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันโรคจิตเภทโลก (World Schizophrenia day) ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคจิตเภท 26 ล้านคน คิดเป็นอัตราป่วย 7 ต่อ 1,000 คน ในประชากรวัยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเริ่มป่วยในช่วงปลายวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 15-35 ปี โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยเพียงครึ่งหนึ่งที่เข้าถึงบริการบำบัดรักษา และในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ป่วยร้อยละ 90 ยังเข้าไม่ถึงการรักษา ภาพ/ข่าว: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ. สงขลา