อบจ.สงขลา เปิดตลาดนัดท้องถิ่นสีเขียว (Green Local Market) อำเภอสะบ้าย้อย

    2024-06-03 07:11:27
    วันนี้ (1 มิ.ย. 67) ณ บ้านถ้ำตลอด หมู่ที่ 6 ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มอบหมาย นายจรัส ชุมปาน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาสังคม เป็นประธานเปิดโครงการตลาดเกษตร อบจ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กิจกรรมที่ 2 "ตลาดนัดท้องถิ่นสีเขียว (Green Local Market)" เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การจำหน่าย และการตลาด (1 อำเภอ 1 ตลาดเกษตร) : อำเภอสะบ้าย้อย โดยมีนายวุฒิ ศรีทวีวัฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาแดง กล่าวต้อนรับ // นางกชภัส สุทธิกรทวี หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการเกษตร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองส่งเสริมการเกษตร กล่าวรายงาน // และนายสมนึก เดินพรม สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสงขลา เขตอำเภอสะบ้าย้อย กล่าวขอบคุณ พร้อมด้วย นายสุลี โต๊ะเพ็ชร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เขต 1 อ.สะบ้าย้อย นายเพ็ชร อุ่นแดง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เขต 2 อ.สะบ้าย้อย และหน่วยงานส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องชาวอำเภอสะบ้าย้อย เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการฯ อำเภอสะบ้าย้อยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ เหมาะแก่การประกอบอาชีพทางการเกษตร นิยมทำสวนกาแฟ สวนยางพารา และสวนผลไม้ มีลักษณะภูมิสังคมแบบพหุวัฒนธรรมของพี่น้องชาวพุทธและมุสลิมผสมผสานกลมกลืนกัน มีการค้าชายแดนกับประเทศมาเลเซีย จึงมีความน่าสนใจในการส่งเสริมการตลาดเกษตร อบจ.สงขลา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรม จึงได้จัดโครงการตลาดเกษตร อบจ. ขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีเป้าหมาย 1 อำเภอ 1 ตลาดเกษตร ครอบคลุมใน 16 อำเภอ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรของจังหวัดสงขลาให้เติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดท้องถิ่นสีเขียว (Green Local Market)” เพื่อส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลาได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า และผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิตโดยตรง เป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน/ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อันเป็นการกระจายรายได้สู่คน ชุมชน ทำให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ ด้านการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีมูลค่าสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น ภาพ/ข่าว : กองส่งเสริมการเกษตร อบจ.สงขลา