ประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ ประจำปี 2567 เพื่ออนุรักษวัฒนธรรมอันดีงาม แสดงออกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและสร้างความสามัคคีแก่ประชาชนในพื้นที่

    2024-08-05 17:08:26
    รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำพุทธศาสนิกชนร่วมแห่ผ้าห่มพระสามองค์ วัดเทพาไพโรจน์ ในการสืบสานประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ ประจำปี 2567 เพื่ออนุรักษวัฒนธรรมอันดีงาม แสดงออกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและสร้างความสามัคคีแก่ประชาชนในพื้นที่ วันที่ 4 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ วัดเทพาไพโรจน์ ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานนำพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอเทพาร่วมสืบสานประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ ประจำปี 2567 โดยมี นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายเอกชัย แก้วรัตนะ นายอำเภอเทพา พันเอก ยุทธนาม เพชรม่วง รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา นายเฉลิมพล ทิพย์มณี นายกเทศมนตรีตำบลเทพา และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมด้วยความศรัทธา ด้วยอำเภอเทพา ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนตำบลเทพา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานานไม่ให้สูญหาย อีกทั้งเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอเทพา โดย “พระสามองค์” ถือเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอเทพา ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2432 ได้ทรงเสด็จเยี่ยมเมืองเทพา เพื่อทอดพระเนตรการดักนกขัน และทรงเสด็จประทับแรมที่บ้านเจ้าเมืองเทพา พระเทพา (เรือง) หรือพระดำรงเทวฤทธิ์ และได้พระราชทานเงินสองชั่งบูรณะวัด พร้อมทั้งพระราชทานวิสุงคามสีมา เดิมชื่อวัดเทพา และพระราชทานนามต่อว่า ไพโรจน์ ซึ่งให้สอดคล้องกับชื่อเจ้าเมือง เป็น “วัดเทพาไพโรจน์” เล่ากันว่าประมาณพุทธศักราช 2447 - 2450 เจ้าพระยาข้าหลวงนายอ่อน ซึ่งเป็นผู้ปกครองเมืองเทพา มีพระธุดงค์รูปหนึ่งชื่อ “พระนวล” มาจำพรรษาอยู่และเป็นที่เคารพรักของประชาชนบริเวณนั้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ครัวเรือนได้นำอาหารมาถวาย พระภิกษุนวลได้นำข้าวที่เหลือฉันมาปั้นเป็นพระพุทธรูปแล้วห่อด้วยดินเหนียวให้ชื่อว่า “พระจังหัน” ส่วนดอกไม้ที่คนนำมามาบูชา ท่านก็นำมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง ให้ชื่อว่า “พระเกษร” รูปเทียนสมัยนั้นคงหายาก จึงเอาแก่นจันทร์ซึ่งเป็นไม้หอมมาจุดแทนทุบบูชา ท่านก็นำมาปั้นเป็นพระพุทธรูปที่อีกองค์หนึ่ง ให้ชื่อว่า “พระแก่นจัน” รวม 3 องค์ พระนวลตั้งใจจะให้พระสามองค์เป็นตัวแทนพระรัตนตรัย จึงได้ชื่อว่า พระเกษร พระจังหัน พระแก่นจันทร์ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเทพา มาจนถึงปัจจุบัน ข่าว/ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา